Transglutaminase

ทรานสกลูตามิเนส (Transglutaminase) เป็นเอนไซม์ที่เร่งปฏิกิริยาย้ายหมู่เอซิล ระหว่างกลูตามินในสายเปปไทด์ และสารประกอบเอมีน จัดเป็นเอนไซม์ในกลุ่มทรานสเฟอเรส (Transferase) มีชื่อเรียกตามระบบตัวเลขคือ EC 2.3.2.13 พบได้ในสิ่งมีชีวิตทั้งพืช สัตว์และจุลินทรีย์ มีหน้าที่ประสานให้เกิดโครงสร้างของโปรตีน (protein networking) เช่น ช่วยให้เลือดแข็งตัว ผสานโปรตีนให้เกาะตัวกันทำหน้าที่เป็นกาวติดเนื้อ (Meat glue) สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปประเภทโปรตีนได้หลากหลาย

การทำงานของเอนไซม์ทรานสกลูตามิเนส


ภาพที่1 ปฏิกิริยาทางเคมีของเอนไซม์ทรานสกลูตามิเนส


ภาพที่ 2 ปฏิกิริยาไฮโดรไลซิสของเอนไซม์ทรานสกลูตามิเนส

จากภาพเอนไซม์ทรานสกลูตามิเนสจะเข้าไปเร่งปฏิกิริยาการเชื่อมโยงสายโปรตีนระหว่างกรดอะมิโนกลูตามิก และไลซีน ทำให้เกิดพันธะโควาเลนส์ระหว่างสายโปรตีน แต่หากไม่มีสารประกอบเอมีนทรานสกลูตามิเนสจะเร่งปฏิกิริยาไฮโดรไลซิสของกลูตามีนในสายเปปไทด์ได้เป็นอนุมูลของกรดกลูตามิก และแอมโมเนีย

การนำไปใช้ประโยชน์
การเชื่อมพันธะกลูตามีน (glutamine) และไลซีน (lysine) หรือ G-L ทั้งภายในและระหว่างสายโพลิเปปไทด์โดยเอนไซม์ทรานส์กลูตามิเนส จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสมบัติทางเคมี กายภาพ ของโปรตีน ซึ่งมีประโยชน์ต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารที่มีโปรตีนเป็นองค์ประกอบ โปรตีนที่ผ่านการเชื่อมพันธะ G-L โดยเอนไซม์ทรานส์กลูตามิเนสจะมีขนาดโมเลกุลใหญ่ขึ้น มีผลทำให้สารละลายโปรตีน มีความหนืดสูงขึ้น มีควาเสถียรต่อความร้อนสูง ความสามาถในการอุ้มน้ำได้ดี สามารถใช้ลดปัญหาการแยกตัวของน้ำในผลิตภัณฑ์อาหาร

ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ เอนไซม์ทรานส์กลูตามิเนส ทำหน้าที่เหมือนกาวติดเนื้อเพื่อเชื่อมติดชั้นเนื้อเข้าด้วยกัน จึงสามารถใช้ในการเชื่อมเนื้อชิ้นเล็กๆ ที่ได้จากการตัดแต่งเนื้อสัตว์หรือเศษเนื้อติดกระดูกติดให้เชื่อมกันเพื่อการผลิตเนื้อขึ้นรูป



ผลิตภัณฑ์นมและโยเกิร์ต เนื่องจากในนมมีโปรตีนเคซีนการเชื่อมพันธะ G-L โดยเอนไซม์ทรานส์กลูตามิเนสจะทำให้เคซีนเกิดเจลที่ทนความร้อนจะมีเนื้อสัมผัสที่ดีและเจลที่ได้มีความแข็งแรงทำให้ได้ผลิตภัณฑ์มีความเฟิร์ม มีความหนืดเพิ่มขึ้น ลดปัญหาการแยกตัวของน้ำ



ผลิตภัณฑ์ขนมอบ และแป้งสาลี กลูเตนเป็นโปรตีนในแป้งสาลีที่สามารถเชื่อมกันได้โดยเอนไซม์ทรานส์กลูตามิเนส การเชื่อมพันธะ G-L ของโปรตีนในแป้งสาลีในระหว่างการเตรียม dough จะช่วยทำให้ dough มีความสามารถในการอุ้มน้ำดีขึ้นและใช้พลังงานในการนวดลดลงทำให้ได้ขนมปังที่มีปริมาณสูงขึ้นและมีเนื้อสัมผัสที่ดี นอกจากนี้ในการผลิตบะหมี่และพาสต้าจะมีผลช่วยป้องกันไม่ให้เนื้อสัมผัสมีคุณภาพด้อยลงหลังการต้ม



ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง การผลิตเต้าหู้ที่มีอายุการเก็บรักษานานจะต้องผ่านการฆ่าเชื้อโดยการใช้ความร้อนสูง ซึ่งปัญหาที่พบคือความร้อนและความดันสูงจะทำลายเนื้อสัมผัสของเต้าหู้ แต่เมื่อใช้เอนไซม์ทรานสกลูตามิเนสเข้ามาช่วยจะมีผลช่วยรักษาเนื้อสัมผัสของเต้าหูในระหว่างการฆ่าเชื้อ ทำให้เต้าหู้มีเนื้อสัมผัสที่แข็งแรงทนต่อความร้อนและความดันสูงได้



 

MORE KNOWLEDGE

On this Website, we use cookie to understand how you interact with our Website and to enhance your user experience. You may accept all cookies or refuse cookies at Cookie Setting Center. Learn more >>